Dragon’s Blood Tree หรือ ต้นเลือดมังกร เป็นต้นไม้รูปร่างแปลกตา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มีต้นกำเนิดอยู่ที่เกาะโซโคตร้า มหาสมุทรอินเดีย ประเทศเยเมน ซึ่งเป็นเกาะมีสภาพอากาศร้อนแห้ง แต่ยังมีพืชและสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ยังสามารถดำรงอยู่ได้ โดยชื่อเรียกเลือดมังกรนั้น ได้มาจากสีของยางไม้ ซึ่งเมื่อกรีดลำต้นหรือปลอกกิ่ง จะมีน้ำยางสีแดงสดไหลออกมาคล้ายเลือด
ในสมัยก่อนชนชาวอินคา หรือชนพื้นเมืองชาวเปรู ค้นพบคุณสมบัติเด่นด้านการสมานแผลของยางไม้จากต้นเลือดมังกร ที่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยสมานผิวได้ดี และมีประสิทธิภาพในการลดเลือนรอยแผลจากสิว จึงมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ในการรักษาฟื้นฟูดูแลผิวพรรณ
เลือดมังกร จึงถูกยกย่องว่าเป็นพืชมหัศจรรย์ และยังคงเป็นศาสตร์แห่งความงามอันเก่าแก่ที่สืบทอดจากอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน โดยทุกวันนี้ ยางของเลือดมังกร ถูกนำมาสกัดและใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการต้านอนุมูลอิสระ และฟื้นฟูสภาพผิวที่ถูกทำลาย เมื่อใช้เครื่องสำอางที่มีเลือดมังกรอย่างต่อเนื่องเป็นประจำจะพบว่า ริ้วรอยลดเลือนลง ร่องลึกต่าง ๆ ตื้นขึ้น ผิวหน้ามีความกระชับ ผิวเรียบเนียน สดใส และดูผิวสุขภาพดี
ผลวิจัยหนุนสรรพคุณเลือดมังกร
วารสารวิชาการทางการแพทย์ Journal: Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปีค.ศ. 2013 เผยแพร่ผลการศึกษาว่า นักวิทยาศาสตร์ ได้นำยาง Resina Draconis (RD) จากต้นเลือดมังกร ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dracaena Cochinchinensis จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาศึกษาวิจัย โดยสารสกัดที่ได้จากยางต้นเลือดมังกร เรียกว่า RDEE ถูกนำมาใช้ในการเยียวยาสมานแผลมาตั้งแต่ยุคโบราณในหลากหลายกลุ่มชาติ
นักวิทยาศาสตร์ จึงมุ่งศึกษาถึงประสิทธิภาพในการหายของแผล (Wound Healing Efficacy) ของสารสกัดจากยางเลือดมังกร โดยทำการศึกษาจากแผลผ่าตัดชนิด Excision Wound และ Incision Wound โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มที่ 1: กลุ่มควบคุม (Control group) ถูกรักษาด้วยขี้ผึ้ง (Ointment Base)
- กลุ่มที่ 2: กลุ่มรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน (Reference Standard) ถูกรักษาด้วยขี้ผึ้งสำหรับรักษาแผล Moist Exposed Burn Ointment (MEBO)
- กลุ่มที่ 3: กลุ่มทดลองรักษาด้วยสารสกัด RDEE จากต้นเลือดมังกร
โดยทั้ง 3 กลุ่มทดลอง มีตัวชี้วัดที่บอกถึงประสิทธิภาพในการหายของแผลดังนี้
- จำนวนเปอร์เซ็นต์ของการหดตัวของแผล (Wound Contraction)
- ระยะเวลาในการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelialization Period)
- ความต้านทานแรงตึงของแผล ความแข็งแรงของแผล (Tensile Strength)
- ผลทางพยาธิวิทยา (Histopathological Study)
- ความหนาแน่นของเส้นเลือดเส้นเล็กๆ (Microvessel Density: MVD)
- สารธรรมชาติที่เซลล์ใช้สื่อสารระหว่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต หรือซ่อมแซมเซลล์ผิว (Growth Factor) ซึ่งประกอบด้วย สารกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Vascular Endothelial Growth Factor: VEGF) และสารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และหลอดเลือด (Transforming Growth Factor β1: TGF β1)
จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัด RDEE จากเลือดมังกร มีอัตราการหดตัวของแผล ระยะเวลาในการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว ความแข็งแรงของแผล รวมถึงผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ความหนาแน่นของเส้นเลือดเล็ก ๆ และมีสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ เจริญเติบโต หรือซ่อมแซม ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ยังพบด้วยว่า สารกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ สารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และหลอดเลือด ที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หรือซ่อมแซมเซลล์ผิว ในกลุ่มที่ 3 มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการหายของแผล ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีรายงานระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ต้นเลือดมังกร มีฤทธิ์ในการต้านไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย รวมถึงยังมี Flavonoids ซึ่งมีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ และ Triterpenoids ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอลลาเจน จึงช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
จากการศึกษานี้ จึงสรุปได้ว่า สารสกัดจากยางต้นเลือดมังกร ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับการรักษาด้วยตัวยาชนิดอื่น